ปัจจุบันนี้ มีเจ้าอาวาสหรือลูกวัดบางแห่ง (หลายแห่ง) ออกเที่ยวบอกบุญขอให้ญาติโยมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดของตน โปรดทราบว่า การกระทำเช่นนั้นผิดพุทธบัญญัติ กฐินที่ได้มาโดยการที่พระสงฆ์บอกบุญหามาเองเช่นนี้ก็ ไม่เป็นกฐิน
การถวายผ้ากฐินนั้นเป็นหน้าที่ของญาติโยม ไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะเที่ยวไปบอกให้ญาติโยมนำมาถวาย ตัวกฐินจริงๆ อยู่ที่ผ้าผืนเดียว ซึ่งราคาไม่มาก ไม่เกินกำลังที่ญาติโยมจะขวนขวายหาไปถวาย ถ้าเขามีศรัทธา หน้าที่ของวัดหรือของพระสงฆ์จึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรญาติโยมจึงจะเกิดศรัทธาที่บริสุทธิ์
ทางที่ญาติโยมจะเกิดศรัทธาที่บริสุทธิ์ก็อยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าพระสงฆ์ -
๑. ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติพระธรรมวินัยและแบบธรรมเนียมของสงฆ์ให้ครบถ้วนเคร่งครัด
๒. ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจ ให้โลภะ - ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง
๓. แนะนำชี้แนวทางที่ถูกต้องให้แก่ญาติโยมพุทธบริษัท
ทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใส เมื่อญาติโยมเกิดศรัทธาเลื่อมใสแล้ว เขาก็จะขวนขวายอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ขึ้นเองโดยพระสงฆ์ไม่ต้องไปเที่ยวเอ่ยปากขอ ขอให้สังเกตเถิดว่า วัดที่ปฏิบัติดีแท้ พระที่ปฏิบัติดีจริงนั้น ญาติโยมจะหลั่งไหลไปอุปถัมภ์บำรุงเองโดยบริสุทธิ์ และโดยปราศจากขบวนการจัดตั้งทุกรูปแบบ
การเที่ยวออกปากขอกฐินเองนอกจากจะผิดพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และไม่เป็นกฐินแล้ว มองอีกแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นการฟ้องตัวเองว่าหาผู้ศรัทธาเลื่อมใสโดยบริสุทธิ์มิได้แล้วกระมัง จึงต้องเที่ยวบอกเที่ยวหากันเช่นนั้น
กฐินไม่ใช่เทศกาลหาเงินเข้าวัด ไม่ควรบิดเบือนพุทธบัญญัติ ไม่ควรเบี่ยงเบนประเพณี ถ้าจะหาเงินเข้าวัด ก็น่าจะคิดอ่านกระทำด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ถูกต้อง ไม่ควรแอบอ้างอาศัยพุทธบัญญัติจนเกิดการแปรปรวน เท่ากับทำลายตัวเอง กฐินมีระยะเวลาเพียงเดือนเดียว ถ้าจะหาเงินเข้าวัด เราไปช่วยกันหาในช่วงเวลาอีก ๑๑ เดือนที่เหลือจะไม่ดีกว่าหรือ จะไม่บริสุทธิ์กว่าดอกหรือ
อนึ่ง อาการที่เที่ยวออกบอกบุญหาเจ้าภาพทอดกฐินเช่นนั้น มิใช่หมายเอาเพียงแค่พระสงฆ์เองเดินไปบอกด้วยวาจาเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการทุกรูปแบบ เช่น จดหมาย ใบฎีกา โฆษณา โทรสาร โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต หรือวิธีการไฮเทคอย่างใดๆ ก็ตาม นับว่าไม่ถูกต้อง ผิดพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และไม่เป็นกฐินทั้งสิ้น ทั้งนี้เว้นไว้แต่ ในพรรษานั้นมีเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว พระจึงบอกญาติโยมเพื่อให้มาร่วมอนุโมทนาโดยทั่วกันเท่านั้น - อย่างนี้ไม่เป็นไร
๒. เจ้าภาพหมู่
องค์กฐินสำเร็จด้วยผ้าผืนเดียว ซึ่งปกติก็ควรจะเป็นของเจ้าภาพรายเดียว แต่ปัจจุบันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากพุทธบัญญัติ คือทอดกฐินที่วัดเดียวกัน แต่มีเจ้าภาพมากกว่าหนึ่งราย ปรากฏการณ์เช่นนี้มี ๒ ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ ๑ มีเจ้าภาพมาพร้อมกันมากกว่าหนึ่งราย และทุกรายได้รับแจ้งจากทางวัดว่าเป็นเจ้าภาพใหญ่เหมือนกันหมด ต่างก็จัดองค์กฐินคือผ้าไตรมาเหมือนกันหมด ตั้งเรียงกันเป็นแถว บางทีนับเป็นสิบๆ เจ้าภาพ ทุกคณะต่างเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าภาพใหญ่ ผ้าไตรที่ตนนำมานั้นคือผ้ากฐิน เมื่อถึงเวลาก็ทำพิธีถวาย และพระสงฆ์ก็รับไว้หมดทุกไตรทุกเจ้าภาพ
ลักษณะที่ ๒ มีเจ้าภาพมาทีละคณะ คณะนี้มาถึง ก็ทำพิธีถวายโดยเข้าใจว่าเป็นการทอดกฐิน พระสงฆ์ก็รับ คณะโน้นมาถึง ก็ทำพิธีถวาย พระสงฆ์ก็รับอีก ถวายกันโดยทำนองนี้โดยทุกคณะต่างเข้าใจว่าคณะของตนมาเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน
โปรดทราบว่าการถวายกฐินและรับกฐินในลักษณะทั้งสองอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ผิดพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และไม่เป็นกฐินทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะในรอบหนึ่งพรรษา พระสงฆ์รับกฐินได้เพียงครั้งเดียว และผ้ากฐินก็มีได้เพียงผืนเดียว การรับผ้าหลายผืนจากหลายเจ้าของคือหลายเจ้าภาพในคราวเดียวกัน หรือรับหลายครั้งจากหลายเจ้าภาพ โดยไม่รู้ว่าผ้าของเจ้าภาพรายไหนเป็นผ้ากฐิน จึงไม่ถูกต้อง
การที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากเจ้าอาวาส หรือลูกวัด หรือกรรมการวัด ต่างรู้เห็นเป็นใจกันออกไปเที่ยวบอกบุญหาเจ้าภาพมาทอดกฐิน และมุ่งจะให้มีเจ้าภาพมากๆ เพื่อหวังได้เงินเข้าวัดมากๆ โดยไม่คำนึงถึงพุทธบัญญัติ การกระทำเช่นนั้นผิดถึงสองชั้น คือพระสงฆ์บอกบุญหาเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดที่ตนเองจำพรรษาอยู่ ก็ผิดชั้นหนึ่งแล้ว การหาเจ้าภาพหลายรายหลายคณะโดยไม่รู้ว่าผ้าของคณะไหนเป็นผ้ากฐิน ก็ผิดซ้ำเข้าอีกชั้นหนึ่ง
การที่พระสงฆ์เที่ยวบอกบุญให้ญาติโยมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดที่ตนจำพรรษาอยู่ แม้จะบอกแก่เจ้าภาพรายเดียว ก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว (ดังกรณีในข้อ ๑ หากฐินเอง) ยิ่งบอกหาเจ้าภาพมาเป็นคณะหลายคณะก็ยิ่งผิดซ้ำสอง เพราะผ้ากฐินมีได้เพียงผืนเดียว คือเป็นผ้ากฐินจริงๆ อยู่เพียงเจ้าภาพเดียว แต่เพราะการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของทางวัด จึงเกิดปัญหา แทนที่จะมีผ้ากฐินผืนเดียว (หรือไตรเดียว) ของเจ้าภาพรายเดียว ก็กลายเป็นมีผ้ากฐินหลายผืน หลายไตร หลายเจ้าภาพ ซึ่งไม่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ที่ซ้ำร้ายก็คือทางวัดยังสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ญาติโยมว่าผ้าของทุกคณะทุกเจ้าภาพเป็นผ้ากฐินเสมอกันทั้งหมด ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย เพราะผ้าที่จะเป็นผ้ากฐินนั้นมีได้เพียงผืนเดียว และเมื่อรับผ้านั้น พระสงฆ์จะต้องรู้แน่แล้วว่าผ้าของเจ้าภาพรายไหนเป็นผ้ากฐิน จะใช้วิธีรับรวมๆ กันไว้ก่อนแล้วไปเลือกเอาเพียงผืนเดียวตอนทำพิธีกรานกฐินนั้นไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะทันทีที่รับผ้าจากเจ้าภาพรายแรกแล้ว สิทธิที่จะรับผ้ากฐินผืนอื่นก็เป็นอันสิ้นสุดลง เพราะพรรษาหนึ่งรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว เจ้าภาพรายอื่นๆ แม้จะตั้งผ้าไตรเรียงรายอยู่ต่อหน้าตรงนั้นก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นผ้ากฐิน จะเป็นได้ก็เพียงบริวารกฐินเท่านั้น
ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ทางวัดมักไม่บอกแจ้งให้เจ้าภาพทั้งหลายเข้าใจ ทำให้เจ้าภาพทุกคณะหลงเข้าใจผิดว่าตนเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงแค่บริวารกฐิน เหตุทั้งนี้เกิดจากโลภจิต คิดแต่จะให้ได้เงินมากๆ โดยไม่คำนึงถึงพุทธบัญญัติ ถ้าไปบอกญาติโยมว่า ขอเชิญไปร่วมเป็นบริวารกฐิน ก็เกรงว่าโยมจะไม่ร่วม เพราะใครก็อยากจะเป็นเจ้าภาพใหญ่ แต่จะไปบอกให้เป็นเจ้าภาพใหญ่รายเดียว ก็เกรงว่าจะได้เงินน้อยไป จึงบอกหลายๆ เจ้าภาพทั้งๆ ที่มีเจ้าภาพได้รายเดียว ก็ต้องใช้วิธีบอกว่าทุกคณะเป็นเจ้าภาพเสมอกัน ซึ่งเป็นการบิดเบือนพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และผลสุดท้ายก็ไม่เป็นกฐิน
บางวัดแม้จะไม่บอกหาเจ้าภาพหลายคณะ แต่เจ้าอาวาสจะเป็นผู้เลือกรับจองเฉพาะรายที่ถวายเงินมากกว่า การกระทำอย่างนี้ถือว่าเป็นกฐินที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง
ทางปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ
๑. พระสงฆ์อย่าออกบอกหากฐินไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น เท่านี้ก็แก้ปัญหาได้หมด และเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยพุทธบัญญัติ
๒. เมื่อพระสงฆ์ไม่ออกบอกหากฐินเอง กฐินก็จะมาโดยศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อรับของเจ้าภาพรายไหนแล้ว ก็ยุติแค่นั้น รับจองกฐินก็เหมือนรับนิมนต์นั่นเอง ใครมานิมนต์ก่อนเมื่อตกลงรับก็ยุติแค่นั้น จะมีเจ้าภาพรายไหนมานิมนต์อีก ก็รับไม่ได้ ปัญหาเจ้าภาพหมู่ก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งไม่เป็นบ่อเกิดแห่งการบิดเบือนย่ำยีพุทธบัญญัติ
๓. หากจะมีเจ้าภาพประดังกันมาเองโดยทางวัดไม่รู้เรื่องด้วย ก็ปล่อยให้เจ้าภาพทั้งหลายเขาตกลงกันเอง ว่าผ้าใครจะเป็นองค์กฐิน ของใครจะเป็นบริวารกฐิน ทั้งนี้ทางวัดจะต้องไม่เข้าไปสอดแทรก ชี้นำ หรือรับรู้รับเห็นอะไรด้วยทั้งสิ้น ขอให้ยึดหลักการไว้ให้มั่นคงว่า กฐินเป็นหน้าที่ของญาติโยมจะนำมาถวาย ไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะไปขวนขวายบอกให้เขานำมา
๓. กรรมการวัดเข้ามาวุ่นวาย
กรรมการวัด คือฆราวาสที่ทางวัดแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือในกิจต่างๆ ของวัด โดยธรรมดาก็ต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งหรือตามนโยบายของวัด แต่ก็ปรากฏว่ามีวัดหลายแห่งที่กรรมการวัดกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือเจ้าอาวาส กลายเป็นผู้เข้ามาบงการหรือตัดสินใจแทนเจ้าอาวาสในกิจการต่างๆ ของวัด รวมทั้งการทอดกฐินด้วย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือผู้ที่มีศรัทธาจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน แทนที่จะแจ้งความประสงค์จองกฐินได้ที่เจ้าอาวาสโดยตรง กลับต้องจองกฐินผ่านทางกรรมการวัด กรรมการวัดก็จะซักถามว่า จะถวายเงินเข้าวัดเท่าไร ถ้าจำนวนเงินที่จะถวายไม่เป็นที่จุใจ กรรมการวัดก็จะไม่รับจอง โดยอ้างว่ามีเจ้าภาพรายอื่นที่แจ้งความจำนงว่าจะถวายปัจจัยบำรุงวัดมากกว่านี้ การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการปิดโอกาสของผู้มีศรัทธาแต่มีทุนทรัพย์น้อย ไม่ให้ได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐิน คงได้เพียงแค่สมทบบุญกฐินกับคนอื่นเขาอยู่ตลอดไป กรรมการวัดจึงกลายเป็นผู้กีดกันศรัทธาของญาติโยมไปโดยปริยาย (ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้แก่วัด) - นี่คือความวุ่นวายของกรรมการวัด
ลักษณะดังกล่าวนี้ จะว่าผิดพุทธบัญญัติ หรือขัดต่อพระธรรมวินัย ก็ว่าไม่ถนัด เพราะเป็นเรื่องระหว่างชาวบ้าน (ผู้มีศรัทธา) กับชาวบ้าน (คือกรรมการวัด) ตัวพระสงฆ์เองยังไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ถึงกระนั้น ในความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไปก็ย่อมจะมองวัดในแง่เสีย คือมองว่าวัดเห็นแก่เงินมากกว่าที่จะบำรุงน้ำใจศรัทธาของญาติโยม หรือไม่ก็มองว่าพระสงฆ์โดยเฉพาะเจ้าอาวาสตกอยู่ใต้อำนาจของกรรมการวัด ซึ่งไม่ว่าจะมองอย่างไร ก็ล้วนแต่ไม่เป็นผลดีทั้งสิ้น
ทางปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ
๑. กรรมการวัดอย่าเข้ามาวุ่นวาย นั่นหมายความว่า ทางวัดหรือเจ้าอาวาสต้องมีนโยบายที่เด็ดขาดแน่นอนว่า เรื่องจองกฐินทอดกฐินนี้กรรมการวัดไม่เกี่ยว เป็นเรื่องระหว่างเจ้าภาพผู้มีศรัทธากับพระสงฆ์โดยตรง ใครมาจองก่อน คนนั้นก็เป็นเจ้าภาพ และยุติเพียงนั้น ใครมาทีหลังก็รอไว้ปีต่อไป
๒. ถ้าหวังประโยชน์แก่วัดจริงๆ และกรรมการวัดยังอยากจะมีบทบาทบ้าง ก็ขอแนะนำให้ใช้วิธีของคนโบราณ กล่าวคือ สมัยก่อน ใครมีศรัทธาจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน เขาจะไม่เข้าไปจองกับเจ้าอาวาสโดยตรง แต่จะให้เขียนใบประกาศจองกฐินปิดไว้ที่ศาลาหน้าวัด โดยระบุว่า "ในปีนี้ ข้าพเจ้าผู้มีชื่อนี้ขอจองกฐินที่วัดนี้ จะมีบริวารกฐินอย่างนี้ๆ จะถวายปัจจัยบำรุงวัดเป็นจำนวนเท่านี้ๆ ถ้าผู้ใดมีศรัทธาสามารถจะถวายได้ยิ่งกว่านี้ ก็ขอให้ทำใบประกาศมาปิดทับใบประกาศของข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้ายินดีจะถอนการจองกฐิน และขอให้ท่านผู้นั้นเป็นเจ้าภาพต่อไป" เมื่อใครได้เห็นประกาศนี้แล้ว ถ้ามีศรัทธา และมีกำลังทรัพย์ที่จะทำให้ยิ่งกว่านั้นได้ ก็จะแต่งใบประกาศมาปิดทับใบประกาศของผู้จองคนเดิม เรียกกันว่า "จองทับ" ข้อความลงท้ายก็จะบอกเหมือนกัน คือ ใครมีศรัทธามากกว่านี้ก็มาจองทับได้ บางทีจองทับกันตั้ง ๒ - ๓ ชั้นก็มี เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว และไม่มีใครมาจองทับอีก จึงจะเข้าไปแจ้งความจำนงต่อเจ้าอาวาส เป็นอันยุติกันเพียงนั้น
วิธีดังกล่าวนี้ จะว่าเป็นการประมูลกฐินก็คงไม่ผิด แต่เป็นการกระทำตามความสมัครใจของผู้จองเอง โดยหวังประโยชน์มากที่สุดให้แก่วัด เป็นวิธีแบบคนใจกว้าง บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ไม่กระทบศรัทธาของกันและกัน เป็นวิธีที่แนบเนียน ละมุนละไม สามัคคีธรรมก็ได้ น้ำใจก็ไม่เสีย ต่างจากวิธีกีดกันของกรรมการวัดที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นวิธีที่ ศรัทธาก็ชอกช้ำ สามัคคีธรรมก็ขุ่นมัว ถ้ากรรมการวัดยังประสงค์จะมีบทบาทในทางสร้างสรรค์ ก็ควรจะเป็นผู้แนะนำเจ้าภาพให้จองกฐินด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งเป็นธุระจัดการปิดประกาศให้พร้อมเสร็จ ทำดังนี้ ผลประโยชน์ของวัดก็ได้ แบบธรรมเนียมที่คมคายของคนไทยก็จะฟื้นฟูขึ้นมา ทั้งบทบาทของกรรมการวัดก็มิใช่ว่าจะลดหดหายไปแม้แต่น้อย ดูยังจะอยู่ในร่องรอยที่เหมาะสมอีกด้วยซ้ำไป
No comments:
Post a Comment