Sunday, September 18, 2011

ควรจำไว้และเข้าใจให้ถูกต้อง


กฐินมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

         กฐิน มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามที่มาของผ้ากฐิน และตามลักษณะของเจ้าภาพที่นำกฐินไปทอด  คือ 
         ๑ ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และทอดที่พระอารามหลวง เรียกว่า กฐินหลวง
         ๒ ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ทอดที่พระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ วัด และกำหนดเสด็จไปทรงทอดด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ไปทอดโดยมีหมายกำหนดการ เรียกว่า พระกฐินเสด็จพระราชดำเนิน
         ๓ ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และเสด็จไปทรงทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นการส่วนพระองค์ เรียกว่า พระกฐินต้น
         ๔ ถ้าผ้ากฐินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชทานให้กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม ตลอดจนเอกชน นำไปทอด ณ พระอารามหลวงนอกจาก ๑๖ วัดดังกล่าวข้างต้น  เรียกว่า กฐินพระราชทาน
         ๕ ถ้าผ้ากฐินเป็นของราษฎรทั่วไป เรียกว่า กฐินราษฎร์
         ๖ ถ้ากฐินที่นำไปทอดนั้นมีเวลาเตรียมการนานวัน จะเป็นกฐินหลวงหรือกฐินราษฎร์ก็ตาม เรียกว่า มหากฐิน แต่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า กฐิน คือกฐินที่ทอดกันอยู่โดยทั่วไปทุกวันนี้
         ๗ ถ้ากฐินนั้นมีเวลาเตรียมการเพียงวันเดียว โดยเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายเอามาปั่น กรอให้เป็นด้าย เอาไปทอเป็นผืนผ้าจนสำเร็จเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง แล้วนำไปทอดในวันนั้น เรียกว่า จุลกฐิน 
         ๘ ถ้าเจ้าภาพมีหลายคน หรือหลายคณะ แต่รวมตัวเป็นคณะเดียวกัน ใช้ผ้ากฐินชุดเดียวกันนำไปทอด เรียกว่า กฐินสามัคคี
         ๙ ถ้าเจ้าภาพมิได้จองไว้ก่อนล่วงหน้าตามธรรมเนียม หากแต่ใช้วิธีเที่ยวไปสืบเสาะหาวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน เมื่อพบก็จัดการทอดทีเดียว เรียกว่า กฐินตก, กฐินตกค้าง, กฐินจร  หรือ กฐินโจร


ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกัน

กฐินแม้จะเรียกชื่อแตกต่างกัน แต่เมื่อจะทอด ย่อมต้องใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกันทั้งสิ้น กล่าวคือ  เดือนเดียว  ครั้งเดียว  ผืนเดียว  ห้ารูปวัดเดียว
เดือนเดียว คือ ต้องทอดภายในระยะเวลาที่กำหนด คือตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง)
ครั้งเดียว  คือ วัดแห่งหนึ่ง ในฤดูกฐินปีหนึ่ง ทอดได้เพียงครั้งเดียว และพระสงฆ์ก็รับได้เพียงครั้งเดียว  คำว่า ครั้ง ในที่นี้หมายความว่ามีเจ้าภาพได้รายเดียวนั่นเอง
ผืนเดียว  คือ ผ้าที่จะสำเร็จเป็นกฐินได้ มีเพียงผืนเดียว คือเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งเท่านั้น  ผ้าอื่นที่ถวายในคราวเดียวกันนี้ไม่ใช่ผ้ากฐิน
ห้ารูปวัดเดียว คือ พระสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ ต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันโดยไม่ขาดพรรษา มีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป รับกฐินไม่ได้ จะนิมนต์มาจากที่อื่นให้ครบ ๕ รูป ก็ใช้ไม่ได้ 

         


ควรจำไว้และเข้าใจให้ถูกต้อง

          . กฐินเป็นกาลทาน คือทานที่จำกัดด้วยระยะเวลา จะทอดกฐินได้ตั้งแต่แรมค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น ไม่ใช่ทอดกฐินกันได้ทั้งปีเหมือนทอดผ้าป่า

. วัดแต่ละวัด จะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียว โดยมีเจ้าภาพรายเดียวเท่านั้น เมื่อถวายแล้วก็เป็นอันแล้วเสร็จ จะมีเจ้าภาพมาถวายเป็นรายที่ ที่ ไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าจะมีเจ้าภาพหลายราย ก็ต้องรวมกันให้เป็นรายเดียว มีผ้ากฐินไตรเดียวหรือผืนเดียว ที่เรียกว่ากฐินสามัคคี

. พระสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ ต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า รูป วัดที่มีพระจำพรรษาน้อยกว่า รูป รับกฐินไม่ได้ จะนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ รูปก็ใช้ไม่ได้ (โปรดดูหลักฐานข้อพิจารณาในบทที่ชื่อ ปัญหาเรื่องพระห้ารูป) ใครที่อยากเป็นเจ้าภาพทอดกฐินหมู่ คือนิมนต์พระเป็นสิบเป็นร้อยวัดมารับกฐินในที่เดียวกัน โปรดระวังให้ดี การนิมนต์วัดที่มีพระไม่ถึง ๕ รูปมารับกฐินเป็นการหลอกลวงทั้งผู้จัดทั้งผู้รับ

. การถวายและการรับกฐิน จะทำ สถานที่ใดๆ ก็ได้ แต่เวลาสวดกรรมวาจา คือการทำสังฆกรรมยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง และเวลากรานกฐิน คือประชุมสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ต้องทำในเขตสีมา หรือจำง่ายๆ ว่า "ต้องทำในโบสถ์" เท่านั้น

. การกรานกฐิน คือเมื่อรับผ้ามาแล้วนำไปทำตามกรรมวิธีที่กำหนดไว้ในพระวินัยบัญญัติจนสำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำมาเข้าที่ประชุมสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่รับกฐิน คือก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ไม่ใช่ ภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลารับกฐิน อย่างที่มักจะพูดกันเพลินไป

. สิ่งที่ทำให้สำเร็จเป็นกฐิน ก็คือ ผ้าผืนเดียว ซึ่งพอที่จะตัดเย็บเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งเพียงชนิดเดียว ผ้าดังกล่าวนี้จะเป็นผ้าขาวก็ได้ หรือผ้าที่ตัดเย็บสำเร็จรูปมาแล้วก็ได้ ของอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผ้าไตรอีกกี่สิบกี่ร้อยไตร แม้แต่เงิน ไม่ว่าจะกี่แสนกี่ล้าน ก็มีฐานะเป็นเพียง บริวารกฐิน เท่านั้น การให้ความสำคัญแก่บริวารกฐินมากกว่าผ้ากฐินถือว่าเป็นการบิดเบือนเบี่ยงเบนพุทธบัญญัติ

. กฐิน เป็นหน้าที่ของญาติโยมที่จะขวนขวายรวบรวมกันนำมาถวายสงฆ์ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ที่จะไปขวนขวายวิ่งเต้นบอกญาติโยมให้นำมาถวายแก่ตนเอง

. พระภิกษุจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินก็ได้ แต่ต้องทอดแก่วัดอื่น ไม่ใช่วัดที่ตนจำพรรษาในปีนั้น

. การรับกฐิน ก็ทำนองเดียวกับการรับนิมนต์ เมื่อบอกรับแก่เจ้าภาพรายใดแล้ว ก็ย่อมเป็นสิทธิ์แก่เจ้าภาพรายนั้น และเป็นหน้าที่ของสงฆ์จะต้องฉลองศรัทธาเจ้าภาพรายนั้น การบอกคืนเจ้าภาพรายเดิมเพื่อไปรับกฐินของเจ้าภาพรายใหม่ที่บอกว่าจะถวายเงินมากกว่า เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ

๑๐. ผู้จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดใด ควรสืบดูให้รู้ชัดว่า วัดนั้นรับจองกฐินของเจ้าภาพรายไหนไว้แล้วหรือยัง ถ้ามีผู้จองแล้ว และวัดนั้นรับการจองแล้ว ก็อย่าเป็นเจ้าภาพทอดที่วัดนั้นอีกในปีนั้น เว้นไว้แต่ท่านพอใจจะเป็นบริวารกฐิน หรือทำในลักษณะเป็นกฐินสามัคคี คือมีเจ้าภาพหลายราย แต่พร้อมใจกันรวมเป็นคณะเดียว มีผ้ากฐินผืนเดียว (หรือไตรเดียว) และพร้อมใจกันทอดเป็นคณะเดียวกัน


@@@@@@@@@@




นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
เขียนเมื่อ พ..๒๕๔๓ ชื่อเดิมว่า ความรู้เรื่องกฐิน
พิมพ์ครั้งแรกในงานทอดกฐิน
วัดเกียรติประดิษฐ์  แขวงบางปะกอก  เขตราษฎร์บูรณะ  กรุงเทพฯ
นายสุวัฒน์ นางอรุณ กำลังหาญ เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๓
แก้ไขปรับปรุง ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๒๕๕๔

No comments:

Post a Comment