Sunday, September 18, 2011

ทอดกฐินให้ถูกวิธี



ทอดกฐินให้ถูกวิธี



โดย 
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

เปรียญธรรม ๙ ประโยค
ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์)





...(ชื่อเจ้าภาพผู้จัดงาน-จัดพิมพ์)...
พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน
ในงานทอดกฐิน ณ วัด....
ตำบล.... อำเภอ.... จังหวัด....
วันที่ / เดือน / พุทธศักราช ๒๕๕๔

ความรู้เรื่องกฐิน


     กฐิน คือสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธานุญาตไว้เพื่อขยายระยะเวลาทำจีวรให้ยาวออกไป  โดยปกติระยะเวลาทำจีวรมีเพียงท้ายฤดูฝน ถ้าได้กรานกฐินแล้ว ระยะเวลาย่อมขยายออกไปตลอดฤดูหนาว  ในกาลต่อมา ได้กำหนดเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอันหนึ่งของชาวไทยที่เป็นพุทธศาสนิกสืบต่อตกทอดมาแต่โบราณกาล เท่าที่มีหลักฐานทราบได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เรียกเป็นสามัญว่า  ประเพณีทอดกฐิน


มูลเหตุของกฐิน

    มูลเหตุที่จะให้เกิดมีเรื่องกฐินขึ้นนั้น ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก กฐินขันธกะ  กล่าวไว้เป็นใจความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป ถือธุดงควัตรเคร่งครัด  มีประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี จึงชวนกันเดินทางจากเมืองปาฐาไปเมืองสาวัตถี พอไปถึงเมืองสาเกตซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีระยะทางประมาณ ๖ โยชน์ (๙๖ กม.) ก็พอดีถึงวันเข้าพรรษา จึงต้องพักจำพรรษาที่เมืองสาเกต  ในระหว่างสามเดือนที่จำพรรษาอยู่นั้นมีความร้อนรนกระวนกระวายใคร่จะเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง พอออกพรรษาปวารณาแล้วต่างก็รีบออกเดินทางจากเมืองสาเกตทันที เวลานั้นฝนยังชุกอยู่ ทางเดินจึงเป็นตมเป็นโคลนเปรอะเปื้อน พอถึงเมืองสาวัตถีก็รีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงการเดินทางและการอยู่จำพรรษาในเมืองสาเกตว่ามีความสะดวกสบายดีอยู่หรือ ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจที่จะรีบมาเฝ้า ตลอดจนความลำบากในการเดินทาง ต้องกรำแดดกรำฝนจนจีวรเปียกชุ่มและเปรอะเปื้อนให้ทรงทราบ  ครั้นพระองค์ได้ทรงทราบดังนั้นแล้ว จึงยกขึ้นเป็นเหตุ มีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน คือเมื่อมีผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์พอจะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ สงฆ์พึงประชุมพร้อมใจกันยกผ้าผืนนั้นถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่นภิกษุผู้มีจีวรเก่า มีพรรษามาก หรือสามารถทำกฐินัตถารกิจได้ถูกต้อง  ภิกษุผู้ได้รับผ้านั้นเอาไปทำจีวรผืนใดผืนหนึ่งให้แล้วเสร็จในวันนั้นแล้ว กลับมาบอกสงฆ์ผู้ยกผ้าให้นั้นเพื่ออนุโมทนา  การกรานกฐินนั้นโปรดให้ทำเป็นการสงฆ์ ในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันออกพรรษาไป โดยมีข้อกำหนดว่า ภิกษุผู้กรานกฐินนั้นต้องเป็นผู้จำพรรษาแล้วตลอดสามเดือนไม่มีขาดในวัดเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ห้ารูปขึ้นไป


ประเภทของกฐิน

    กฐินมีสองประเภท คือ กฐินหลวง และ กฐินราษฎร์ ซึ่งเรียกเป็นสามัญแต่เพียงสั้นๆ ว่า กฐิน 
กฐินที่ใช้ผ้าองค์กฐินของหลวง เรียกว่า กฐินหลวง  และกฐินหลวงนี้เอง ถ้าพระราชทานให้กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม  ตลอดจนเอกชนนำไปทอด เรียกว่า กฐินพระราชทาน  
กฐินที่ราษฎรทำกันทั่วๆ ไป เรียกว่า กฐินราษฎร์ 
ในกฐินราษฎร์นี้เองยังแยกเรียกกันออกไปเป็นสองอย่าง คือ จุลกฐิน และ มหากฐิน  
กฐินที่จัดทำตั้งแต่เริ่มเก็บฝ้ายมาปั่นกรอให้เป็นด้ายแล้วทอจนเป็นผืนผ้า เย็บย้อมเสร็จแล้วทอดในวันนั้น  มีกำหนดเวลาให้ทำเสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง เรียกว่า จุลกฐิน เพราะต้องรีบทำให้เสร็จในระยะเวลาอันสั้น
ส่วนกฐินที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่า มหากฐิน เพราะมีเวลาตระเตรียมได้นานวัน  ไม่จำกัดเวลาดั่งจุลกฐิน  มหากฐินนี้เรียกกันเป็นสามัญแต่เพียงว่า กฐิน


กำหนดเทศกาลกฐิน

    ประเพณีนี้มีกำหนดฤดูกาลที่จะทำไว้ตามวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต  ต้องทำภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันออกพรรษาไปแล้ว  คือตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง เดือนสิบเอ็ด จนถึงวันกลางเดือนสิบสอง (ตกอยู่ในราว ตุลาคม -พฤศจิกายน) จะทำก่อนหรือหลังกำหนดเวลาที่กล่าวนี้ไม่ได้ ภายในกำหนดเวลานี้เรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่า  กฐินกาล เทศกาลกฐิน หน้ากฐิน หรือ ฤดูกฐิน ซึ่งหมายความว่าเป็นเวลาที่ทอดกฐินได้


จองกฐิน 

     ก่อนถึงกฐินกาล ผู้ประสงค์จะทอดกฐิน ณ วัดใด ต้องไปแจ้งความจำนงให้พระและประชาชนละแวกวัดนั้นทราบว่า ตนจะทอดกฐินที่วัดนั้น เป็นการล่วงหน้า การแสดงความจำนงนี้เรียกว่า จองกฐิน  การจองกฐินนี้จองได้แต่วัดราษฎร์ วัดหลวงจองไม่ได้ เพราะมีนิยมว่าวัดหลวงต้องได้รับกฐินหลวง ถึงกระนั้นก็ดี บัดนี้ได้พระราชทานโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม ตลอดจนเอกชน ขอพระราชทานเพื่อทอดกฐินตามวัดหลวงได้โดยใช้ผ้าองค์กฐินของหลวง (วิธีขอพระราชทาน ดูในเรื่อง กฐินพระราชทาน) ทั้งนี้ เว้นวัดหลวงที่สำคัญ ๑๖ วัด ห้ามขอพระราชทาน นอกจากจะพระราชทานให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปทอดแทนพระองค์ วัดหลวง ๑๖ วัดนั้น คือ
    กรุงเทพมหานคร  ๑.วัดเทพศิรินทราวาส  ๒. วัดบวรนิเวศวิหาร  ๓. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  ๔.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ๕. วัดมกุฏกษัตริยาราม  ๖. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์   ๗. วัดราชบพิธ   ๘. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม    ๙. วัดราชาธิวาส   ๑๐. วัดสุทัศนเทพวราราม  ๑๑. วัดราชโอรสาราม  ๑๒. วัดอรุณราชวราราม
          จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ๑. วัดนิเวศธรรมประวัติ  ๒. วัดสุวรรณดาราราม
          จังหวัดนครปฐม  วัดพระปฐมเจดีย์
          จังหวัดพิษณุโลก  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ


ทอดกฐิน

   ครั้นถึงกฐินกาล ผู้ที่จองกฐินไว้ก็เตรียมข้าวของโดยเฉพาะผ้าซึ่งจะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ อย่างน้อยก็พอที่จะทำเป็นสบงได้  ผ้านี้จะเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้เย็บ หรือเย็บแล้วแต่ยังไม่ได้ย้อมเหลือง หรือย้อมเหลืองแล้วก็ได้ ผ้าดังกล่าวเป็นของสำคัญ ไม่มีไม่ได้ จึงเรียกว่า องค์กฐิน  ส่วนของอื่นซึ่งเรียกว่า บริวารกฐิน นั้นไม่มีกำหนด แล้วแต่ศรัทธา เมื่อเตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า ทอดกฐิน ก่อนที่จะนำกฐินไปทอด ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า ฉลองกฐิน  และในขณะนำไปทอด ถ้ามีพิธีแห่ จะเป็นทางบกหรือทางน้ำก็ตาม เรียกว่า แห่กฐิน  ในการทอดกฐินนี้มีประเพณีอย่างหนึ่ง คือผู้ทอดกฐินต้องทำธงผ้าเขียนเป็นรูปสัตว์ เช่น จระเข้ หรือเต่า ไปด้วย เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็นำไปปักไว้ที่ศาลาวัด ที่หน้าโบสถ์ หรือหน้าวัด หรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งจะเห็นได้ง่าย เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า วัดนี้ทอดกฐินแล้ว
   เมื่อจวนจะสิ้นกฐินกาล ราวขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง มักจะมีผู้มีศรัทธา หมายจะสงเคราะห์ภิกษุสงฆ์ให้ได้อานิสงส์กฐิน ไปสืบเสาะหาวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน เมื่อพบก็จัดการทอดทีเดียว กฐินชนิดนี้เรียกว่า กฐินตก หรือ กฐินตกค้าง บางทีก็เรียกว่า กฐินจร หรือ กฐินโจร ซึ่งหมายความว่า กฐินที่ไม่ได้จองล่วงหน้าตามธรรมเนียม จู่ๆ ก็ไปทอดโดยมิได้บอกให้รู้ตัว


อานิสงส์กฐิน (สำหรับภิกษุ)

   ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ (เอกสิทธิ์) ห้าประการ  คือ 
๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคในปาจิตตีย์กัณฑ์    
๒. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ 
๓. ฉันคณโภชน์ได้ 
๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา  
๕. จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ   
ทั้งได้โอกาสขยายจีวรกาลให้ยาวออกไปตลอด ๔ เดือนฤดูเหมันต์ด้วย (ดูเรื่องพิสดารใน วินัยมุข เล่ม ๓  ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
    เรื่องกฐินนี้ชั้นเดิมเป็นเรื่องของภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ เพราะเป็นสังฆกรรม ภิกษุสงฆ์ต้องจัดการขวนขวายหาผ้ามาเองโดยวิธีบังสุกุล หรือเก็บผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองขยะหรือป่าช้า หรือที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งแสดงว่าผ้านั้นไม่มีเจ้าของ จะออกปากขอโดยตรงหรือโดยปริยายก็ไม่ได้ จึงลำบากอยู่มาก  ภายหลังคฤหัสถ์ผู้ศรัทธา เห็นความลำบากของภิกษุสงฆ์ ปรารถนาจะอนุเคราะห์ ประกอบทั้งหวังบุญกุศลด้วย จึงถือเป็นหน้าที่จัดถวายเพื่อเป็นการสะดวกแก่ภิกษุสงฆ์ หรือแม้ภิกษุสามเณรถ้าปรารถนาจะอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ให้ได้กรานกฐิน จะจัดการทอดกฐินบ้างก็ได้

หลักความ ได้จาก สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ถ้อยคำอันเนื่องมาจากกฐิน


คำว่า กฐิน
ตามศัพท์แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร ในทางพระวินัย ใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่ง (ในประเภทญัตติทุติยกรรม) ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์  ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้) และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔) ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้นเรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ) สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือนต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
          ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา) ยืดออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น

จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ BUDSIR VI

กฐินต้น
กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นการส่วนพระองค์

กฐินเดาะ
กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน  ศัพท์นี้ภาษาลีว่า   ินุทฺธาโร,  ินุพฺภาโร   แปลว่า  รื้อไม้สะดึง ความหมายก็คือ ยกเลิกการกรานกฐิน คือไม่สามารถจะหาผ้ามาทำให้สำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ หรือผ้าที่ได้มานั้นไม่อาจจะใช้เป็นผ้ากฐินได้ เช่นเป็นผ้าที่ออกปากขอได้มา หรือสงฆ์ในวัดนั้นไม่พร้อมใจกันกรานกฐินด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม เรียกกรณีดังว่ามานี้ว่า กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน ความหมายที่เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ ขาดสิทธิ์ที่จะได้รับประโยชน์หรืออานิสงส์แห่งกฐิน หรือ ไม่สำเร็จเป็นกฐิน

กฐินัตถารกรรม, กฐินัตถารกิจ 
การกรานกฐิน

กรานกฐิน 
ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน
          พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบสามเดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจ ตั้งแต่ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่ออนุโมทนา และภิกษุนั้นอนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ก็ไม่มี (กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ขึง” คือทำให้ตึง กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า “ไม้สะดึง” กรานกฐิน ก็คือ “ขึงไม้สะดึง” คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง) เขียน กราลกฐิน บ้างก็มี

คณโภชน์ 
อานิสงส์กฐินข้อ  ฉันคณโภชน์ได้  คำว่า คณโภชน์  แปลว่า ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะแล้วฉัน
“รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะ” หมายถึงเจ้าภาพนิมนต์ไปฉันโดยระบุชื่ออาหารที่จะถวาย เช่น นิมนต์ฉันไก่ย่าง นิมนต์ฉันหมูสะเต๊ะ  ตามปกติ ถ้าเจ้าภาพนิมนต์โดยระบุชื่ออาหารเช่นนี้ ภิกษุจะรับนิมนต์ไม่ได้ เพราะผิดวินัยบัญญัติ เจ้าภาพที่รู้วินัยสงฆ์จึงนิมนต์โดยใช้คำเป็นกลางๆ เช่น นิมนต์ฉันภัตตาหารเพล แต่เมื่อได้กรานกฐินแล้ว ภิกษุรับนิมนต์ออกชื่อโภชนะเช่นนั้นได้ตลอดระยะกาลเวลาที่อานิสงส์กฐินยังมีอยู่ คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
ในหนังสือวินัยมุข สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีข้อพิจารณาว่า คำว่า  คณโภชน์  บางทีจะหมายถึงการนั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง

เครื่องกฐิน



          คนแต่ก่อนพูดกันว่า “จัดเครื่องกฐินก็เหมือนจัดบริขาร อย่างน้อยพอบวชพระได้องค์หนึ่ง” รายการเครื่องกฐินจึงนิยมกำหนดกันดังต่อไปนี้
          ๑. ไตรจีวรพระองค์ครอง ๑ ไตร (รายการนี้คือ “องค์กฐิน”)
          ๒. ไตรจีวรพระคู่สวด ๒ ไตร
          ๓. บาตร พร้อมธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) มีดโกน เข็ม ๑ ชุด
          ๔. ตาลปัตร และย่าม ๑ ชุด
          ๕. เสื่อ ที่นอน หมอน ผ้าห่มนอน มุ้ง ๑ ชุด
          ๖. ร่ม ๑ คัน
          ๗. ปิ่นโต ๑ เถา
          ๘. รองเท้า ๑ คู่
          ๙. กาต้มน้ำ ๑ ใบ
          ๑๐. ถังกานวม, ถ้วยชา ๑ ชุด
          ๑๑. กระโถน ๑ ใบ
          ๑๒. ช้อนส้อม จานข้าว ๑ ชุด
          ๑๓. ผ้าขนหนูเช็ดตัว ๑ ผืน
          ๑๔. ตะเกียง ๑ ดวง หรือโคมไฟ ๑ ชุด
          ๑๕. ไม้กวาด, สายระเดียง (ราวตากผ้า), ธงตะเข้ ๑ ชุด
          ๑๖. ผ้าห่มพระประธาน ๑ ผืน
          ๑๗. เทียนปาติโมกข์ ๑ ห่อ
          ๑๘. เครื่องมือช่าง ๑ ชุด (เช่น จอบ เสียม มีด ขวาน ค้อน ฯลฯ)
          ๑๙. พานแว่นฟ้า, ดอกไม้คลุมไตร ๓ ชุด
          ๒๐. สัปทน ๑ คัน
          ๒๑. เครื่องไทยธรรม เท่าจำนวนพระภิกษุ-สามเณรทั้งวัด
          รายการเหล่านี้เจ้าภาพอาจตัดหรือเติมได้ตามความเหมาะสม ยกเว้นรายการที่ ๑ องค์กฐิน อย่างน้อยต้องมีไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ขาดไม่ได้